Archive by Author

10 โรคประหลาดที่อาจคาดไม่ถึง (ตอนที่ 4)

1 Oct

          4. โรคอลิสในดินแดนมหัศจรรย์ (Micropsia หรือ Alice In Wondrtland Syndrome ; AIWS)

          เรื่องราวจากวรรณกรรมเยาวชนที่คงจะคุ้นเคยกันดีเมื่อสมัยเด็ก อย่างเรื่อง “อลิสในดินแดนมหัศจรรย์” ที่หนูน้อยอลิส ตัวละครเอกของเรื่องพลัดหลงเข้าไปยังดินแดนมหัศจรรย์ที่ทุกสิ่งทุกอย่างดูเล็กลงไปจากความเป็นจริงเสียหมดนั้น… ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในโลกมนุษย์

          โรคที่ว่านี้เป็นโรคที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวกับการรับรู้ทางสายตาที่ส่งสัญญาณไปยังสมอง หรืออาจเกิดจากการบิดเบี้ยวของภาพในลูกตา หรือเกิดจากการติดเชื้อเอปสไตน์-บาร์ ไวรัส (Epstein-Barr virus) นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกอื่นๆ อย่างเช่น ลมบ้าหมู ก็ยังส่งผลต่ออาการนี้ด้วย โดยเด็กอายุระหว่าง 5-10 ปี มีแนวโน้มที่จะมีอาการนี้มากที่สุด จนนำไปสู่อาการสับสนในเด็กหรือโรคปวดหัวข้างเดียว (ไมเกรน) ได้ ซึ่งจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวเล็กไปกว่าความเป็นจริง เช่น เห็นสุนัขมีขนาดเท่ากับหนู เป็นต้น หรือบางครั้งก็อาจส่งผลในทางตรงกันข้ามคือ ทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ใหญ่เกินกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า “มาครอปเซีย” (Macropsia)

          เนื่องจากอาการดังกล่าวนี้มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยอาการจะหายไปเองภายในไม่กี่วัน จึงไม่มีการรักษาที่แน่นอน แต่ก็มีการศึกษาหาวิธีป้องกันในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการจากการรับยาบางอย่าง รวมถึงการให้ยาควบคุมโรคปวดหัวข้างเดียว (ไมเกรน) ซึ่งมีส่วนให้ระยะของการเกิดโรคสั้นลง นอกจากนั้น โรคอลิสในดินแดนมหัศจรรย์ยังบ่งบอกถึงอาการแรกเริ่มของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อเอปสไตน์-บาร์ ไวรัสได้ด้วย

นำบทความนี้มาจาก
ณภัทร เฉลิมชุติปภา : 10 โรคประหลาดที่อาจคาดไม่ถึง !! : จากวารสารอัพเดท ปีที่ 24 ฉบับที่ 264 กันยายน 2552

10 โรคประหลาดที่อาจคาดไม่ถึง (ตอนที่ 3)

28 Sep

          3. โรคถูกสาป (Ondine’s Curse หรือ Congenital Central Hypoventilation Syndrome ; CCHS)

curse

          โรคนี้มีที่มาจากตำนานคำสาปแห่งออนดีน (Ondine’s Curse) โดน ออนดีน พรายน้ำสาว ผู้มีคนรักที่ไร้ความซื่อสัตย์ ชายคนรักของเธอสาบานว่า “จะรักเธอตลอดลมหายใจในตอนตื่น” แต่เธอกลับพบว่าชายคนรักมีชู้ จึงสาปให้ชายคนรักหยุดหายใจเมื่อตอนหลับ ดังนั้น เมื่อชายคนรักหลับไปด้วยความเหนื่อยล้า เขาก็ไม่กลับมาหายใจอีกเลย

          โรคนี้ก็เป็นเช่นตำนาน เพราะเมื่อผู้ป่วยตื่นนอน ก็จะมีชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป แต่เมื่อใดที่หลับ ผู้ป่วยก็จะหยุดหายใจทันที ซึ่งสาเหตุของโรคนี้เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางจะไม่สั่งการให้กล้ามเนื้อกระบังลมและหลอดลมทำงานในระหว่างที่ผู้ป่วยนอนหลับ จึงจำเป้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลาที่นอนหลับ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้มาแต่กำเนิด มักตรวจพบได้ตั้งแต่ช่วงเดือนแรก ทั้งยังมีโอกาสเกิดโรคเท่ากันในทุกเพศทุกเชื้อชาติ

          ส่วนการรักษาผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดหลอดลมเพื่อรักษาอาการ และใช้เครื่องช่วยหายใจในการดำรงชีวิต

          ซึ่งไม่กี่เดือนก่อนนี้ รายการเรื่องจริงผ่านจอ ทางช่อง 7 ก็นำเสนอเรื่องราวหนูน้อยที่มีอาการ “ตื่นเป็น หลับตาย” หรือที่คนไทยเรียกว่า “โรคถูกสาป” นี้เช่นเดียวกัน น้องสองคนนี้มีชื่อว่า น้องออมทรัพย์ หรือ ด.ญ.ฐิติญาพร วัตรเยื้อง อายุสองปี และ น้องมิ้นต์ หรือ ด.ญ.มินตรา คำมูล อายุสามปี ทั้งสองต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตั้งแต่เกิดเพราะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในขณะหลับ ซึ่งภายหลังด้วยน้ำใจจากชาวไทย ก็ช่วยให้น้องสองมีเครื่องช่วยหายใจส่วนตัว จึงกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ 

นำบทความนี้มาจาก
ณภัทร เฉลิมชุติปภา : 10 โรคประหลาดที่อาจคาดไม่ถึง !! : จากวารสารอัพเดท ปีที่ 24 ฉบับที่ 264 กันยายน 2552

วันเกิด google ครบรอบปีที่ 11

27 Sep

    วันนี้ผมลองเข้าไปยัง google เพื่อค้นหาข้อมูลทั่วไปตามปกติ ผมรู้สึกสะดุดตากับรูปภาพ สัญลักษณ์ของ google ที่ปรากฏ 
 

11th_birthday

         โดยสังเกตเห็นได้ว่า มีตัว L 2 ตัว ซึ่งหมายความถึง การฉลองครบรอบปีที่ 11 ของ เสริจเอนจิน ชื่อดังก้องโลกอย่าง google  ซึ่งวันนี้ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ขอนำเสนอเรื่องราว ความเป็นมา รวมทั้งทีมผู้ก่อตั้งเว็บไชต์นี้ ให้ทุกท่านได้ศึกษาน่ะครับ
         เว็บไซต์ Google (
www.google.co.th , www.google.com) เป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการค้นหาข้อมูล (Search Engine) ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยค้นหาข้อมูลจากข้อความ หรือตัวอักษรที่พิมพ์เข้าไป google จะทำการค้นหาข้อมูล รูปภาพ(Images) กลุ่มข่าว(News Groups) สารบัญบนเว็บ( Web Directory) หรือเว็บเพจที่เกี่ยวข้อง  แล้วนำมาแสดงผล  ถือได้ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ที่ต้องการค้นหาข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ตgoogle_logo2-700256
         เว็บไซต์ Google แบ่งหมวดหมู่ของการค้นหาออกเป็น 4 หมวดหมู่ด้วยกัน ดังนี้คือ 
เว็บ (Web) เป็นการค้นหาข้อมูลในรูปแบบของเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยการแสดงผลจะแสดงเว็บไซต์ที่มีคำที่เป็น Keyword อยู่ภายเว็บไซต์นั้น
รูปภาพ (Images) เป็นการค้นหารูปภาพจากการแปลคำ Keyword
กลุ่มข่าว (News) เป็นการค้นหาข้อมูลที่เป็นเนื้อหาที่อยู่ในข่าว ซึ่งมีการระบุชื่อผู้เขียนข่าว, หัวข้อข่าว, วันที่และเวลาที่โพสต์ข่าว 
สารบบเว็บ (Web Directory) Google มีการจัดประเภทของเว็บไซต์ออกเป็นหมวดหมู่ ซึ่งเราสามารถค้นหาเว็บในเรื่องที่ต้องการตามหมวดหมู่ที่มีอยู่แล้วได้เลย

วิธีการใช้งาน Google ค้นหาข้อมูลแบบติดจรวด 

        การค้นหาโดยทั่วไปส่วนใหญ่แล้วจะใช้คำ Keyword เป็นเครื่องมือในการนำทางการค้นหาอย่างเดียว แต่ถ้าเรารู้จักใช้เครื่องหมายบางตัวร่วมด้วย ก็จะทำให้ขอบเขตการค้นหาของ Google แคบลง ทำให้เราได้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น เครื่องหมายที่สามารถนำมาช่วยในการค้นหาได้ มีดังนี้
        การค้นหาด้วยเครื่องหมายบวก (+) เหมาะสำหรับการค้นหาคำ Keyword ที่มีลักษณะเป็นตัวเชื่อม เพราะโดยหลักการทำงานของ Google แล้ว Google จะไม่ค้นหาคำประเภทตัวเชื่อม เช่น at, with, on, google_logowhat, when, where, how, the, to, of ถึงแม้ว่าเราจะมีการระบุเหล่านี้ลงใน Keyword ด้วยก็ตาม
        ดังนั้นถ้าเราต้องการให้ Google ทำการค้นหาคำเหล่านี้ด้วย เนื่องจากเป็นคำสำคัญของประโยคที่เราต้องการ สามารถใช้เครื่องหมาย + ช่วยได้ โดยมีเงื่อนไข ว่า ก่อนหน้าเครื่องหมาย + ต้องมีการเว้นวรรค 1 เคาะด้วย เช่น ถ้าต้องการค้นหาเว็บไซต์เกี่ยวกับเกมส์ที่มีชื่อว่า Age of Empire ถ้าเราพิมพ์ Keyword …Age of Empire… Google จะทำการค้นหาแยกคำโดยไม่สนใจ of คืออาจจะค้นหา Age หรือ Empire แค่ตัวเดียว แต่ถ้าเราระบุว่า Age +of Empire Google จะทำการค้นหาทั้งคำว่า Age, of และ Empire เป็นต้น 
        การค้นหาด้วยเครื่องหมายลบ ( – ) จะช่วยให้เราสามารถตัดเรื่องที่เราไม่ต้องการ หรือไม่เกี่ยวข้องออกไปได้ เช่น ถ้าเราต้องการค้นหาเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการล่องแก่ง แต่ไม่ต้องการ การล่องแก่งที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดตาก ให้เราพิมพ์ Keyword ว่า ล่องแก่ง -ตาก (เช่นเดียวกับเครื่องหมาย + ต้องเว้นวรรคก่อนหน้าเครื่องหมายด้วย) Google จะทำการค้นหาเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการล่องแก่ง แต่ไม่มีจังหวัดตากเข้ามาเกี่ยวข้อง
       การค้นหาด้วยเครื่องหมายคำพูด (“…”) เหมาะสำหรับการค้นหาคำ Keyword ที่มีลักษณะเป็นประโยควลี ที่เราต้องการให้มันแสดงผลทุกคำในประโยค โดยไม่แยกคำ เช่น ถ้าเราต้องการหาเว็บไซต์เกี่ยวกับเพลงที่มีชื่อว่า If I Let You Go ให้พิมพ์ว่า “If I Let You Go” Google จะทำการค้นหาประโยค “If I Let You Go” ทั้งประโยคโดยไม่แยกคำค้นหา
       การค้นหาด้วยคำว่า OR เป็นการสั่งให้ Google ค้นหาข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เช่น ถ้าเราต้องการค้นหาเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการล่องแก่ง ทั้งในจังหวัดตาก และปราจีนบุรี ให้เราพิมพ์ Keyword ว่า ล่องแก่ง ตาก OR ปราจีนบุรี Google จะทำการค้นหาเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการล่องแก่งทั้งในจังหวัดตาก และกาญจนบุรี

10 โรคประหลาดที่อาจคาดไม่ถึง (ตอนที่ 2)

22 Sep

2. โรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos Syndrome ; EDS หรือ Cutis hyperelastica)

Ehlers-Danlos Syndrome

          โรคที่ว่านี้ตั้งชื่อตามนายแพทย์ผู้บ่งชี้ลักษณะของโรคสองท่าน ได้แก่ นพ.เอ็ดเวิร์ด อีห์เลอส์ (Edward Ehlers) แพทย์ผิวหนัง ชาวเดนมาร์ก และ นพ.อองรี-อเล็กซานเดอร์ แดนลอส (Henri-Alexandre Danlos) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีของโรคผิวหนังผิดปกติชาวฝรั่งเศส

          โรคนี้เกิดจากการถ่ายทอดความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) ผ่านทางพันธุกรรม ทำให้เกิดความบกพร่องในการสังเคราะห์คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มีหน้าที่เชื่อมต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ จึงสร้างความแข็งแรงและยืดหยุ่นให้แก่ผิวหนัง เอ็น กล้ามเนื้อ หลอดเลือด และอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ผิวหนังของผู้ป่วยยืดได้มากผิดปกติ เอ็นหย่อน ข้อต่อเคลื่อน คดและงอได้มากกว่าปกติ ทั้งยังส่งผลให้ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนแอ เส้นเลือดเปราะและแตกง่าย

          ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่แน่นอน เพียงแต่ทำกายภาพบำบัดร่วมกับการทำกิจกรรมเบาๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นพอที่จะพยุงข้อต่อต่างๆ และเป็นการฝึกให้ผู้ป่วยรู้ขอบเขตการทำงานของข้อต่อและกล้ามเนื้อของตน เพื่อเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวัน และในบางครั้งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ข้อต่อเกิดการยืดออกมาก รวมถึงระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและดูแลผิวพรรณเมื่อต้องออกแดด

          นอกจากนี้ ทางกินเนสส์ เวิลด์ เร็กคอร์ด ยังมีการบันทึกสถิติคนที่มีผิวหนังยืดยาวได้มากที่สุดในโลก เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2542 ด้วย โดยผู้ชนะคือนายแกร์รี เทอร์เนอร์ ชาวอังกฤษ ซึ่งป่วยเป็นโรคหนังยืดผิดปกติ เขามีผิวหนังบริเวณหน้าท้องที่ยืดออกได้ถึง 15.8 เซนติเมตรเลยทีเดียว

บทความจาก

ณภัทร เฉลิมชุติปภา : 10 โรคประหลาดที่อาจคาดไม่ถึง!!! : นิตยสารอัพเดท ปีที่ 24 ฉบับที่ 264 กันยายน 2552

10 โรคประหลาดที่อาจคาดไม่ถึง (ตอนที่ 1)

19 Sep

1.  โรคริ้วรอยลาสช์โค (Blaschko’s lines)

blaschko

          ลักษณะผิดหนังปกติของมนุษย์เรานั้น เกลี้ยงเกลา ไร้ซึ่งลวดลายใดๆ แต่ด้วยความผิดปกติบางอย่างขณะที่ยังเป็นเอ็มบริโอก็ทำให้มนุษย์บางคนมีลวดลายตามร่างที่แปลกประหลาดได้

          โรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ยาก และยังอธิบายสาเหตุของความแปลกประหลาดนี้ในทางกายวิภาคไม่ได้ ทั้งนี้ มีการบันทึกโรคครั้งแรกใน พ.ศ.2444 โดยแพทย์ผิวหนัง ชาวเยอรมัน ชื่อ อัลเฟรด บาสซ์โค (Alfred Blaschko) จึงเป็นที่มาของชื่อโรคดังกล่าว

          ริ้วรอยบลาสซ์โคที่ปรากฏไม่มีผลต่อระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ หรือระบบน้ำเหลืองในร่างกาย จะมีเพียงริ้วรอยที่ปรากฏบนผิวหนังของผู้ป่วยจนเห็นได้ชัดด้วยตาเหล่าเท่านั้น โดยคาดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากความผิดปกติในวิถีของเซลล์ผิวหนังชั้นนอก ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายและเพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงที่เป็นเอ็มบริโอของทารก ทั้งนี้ ริ้วรอยบลาสซ์โคที่ปรากฏก็มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเหมือนกันในผู้ป่วยทุกราย โดยศีรษะมีริ้วรอยที่มีลักษณะเป็นคลื่น ส่วนริ้วรอยตามแนวกระดูกสันหลัง จะมีลักษณะเป็นรูปตัว “วี” (V) ที่หน้าท้อง จะเป็นริ้วรอยที่มีลักษณะขดไปมาคล้ายตัว “เอส” (S) บริเวณหน้าอกไปจนถึงต้นแขน ริ้วรอยจะมีลักษณะเป็นตัว “ยูกลับหัว” (^) และบริเวณรอบๆ ขา ริ้วรอยมีลักษณะเป็นเส้นยาวตั้งฉากกับริ้วรอยตามลำตัว และไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะมีริ้วรอยเช่นนี้ สัตว์อื่นๆ เช่น สุนัขและแมว ก็มีริ้วรอยบลาสซ์โคนี้ได้เช่นกัน

~โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ~

นำบทความนี้มาจาก
ณภัทร เฉลิมชุติปภา : 10 โรคประหลาดที่อาจคาดไม่ถึง !! : จากวารสารอัพเดท ปีที่ 24 ฉบับที่ 264 กันยายน 2552

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มช

18 Sep

building            สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้พวกเราชาวห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ มช ขอนำเสนอหน่วยงานที่น่าสนใจ ได้แก่ 
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ (ศฟ.) หรือที่เรียกว่า  Thailand Center of Excellence in Physics (ThEP)  สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.)  Postgraduate Education and Research Development Office (PERDO) 

            ศูนย์ ThEP เป็นศูนย์การวิจัยและศึกษาด้านฟิสิกส์ในระดับสูง (advanced study) เพื่อสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานในระดับสากล อันจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้วงการวิชาการไทยมีส่วนร่วม อย่างมีศักดิ์ศรี ในเวทีโลก และสะท้อนกลับเป็นการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์และการพัฒนาเทคโนโลยีของชาติแบบพึ่งพาตนเองได้ซึ่งเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน

             ศูนย์ ThEP มีแนวทางการดำเนินงานในลักษณะภาคีสถาบันอุดมศึกษา/วิจัย (academic consortium) ในช่วงเริ่มต้นดังเช่นปัจจุบัน ได้มุ่งเน้นดำเนินกิจกรรมแบบต่อยอดในด้านที่มีทรัพยากรบุคคล/อุปกรณ์เครื่องมือต้นทุนและมีผลผลิตงานวิจัยอย่างต่อเนื่องอยู่เดิมแล้วและมีแนวทางที่สนับสนุนและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ ซึ่งได้รวมกลุ่มกันเข้าเป็นศูนย์วิจัย 5 ด้าน ดังต่อไปนี้

physics

ประวัติและความเป็นมา
         การแข่งขันในโลกปัจจุบันเป็นการแข่งขันทางเทคโนโลยี อีกทั้งปัญหาระดับโลกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแหล่งพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล วิกฤตการอาหารขาดแคลน หรือสภาวะโลกร้อนก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไข ประเทศที่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเองย่อมมีความได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจและเสถียรภาพของสังคม ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป รวมทั้งประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย และสาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น ต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ควบคู่กันไปกับเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มุ่งหวังจะมีความรุดหน้าทางด้านเศรษฐกิจเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน จึงต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์พื้นฐานโดยเฉพาะฟิสิกส์ซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง และเทคโนโลยีอนาคต
        สำหรับประเทศไทย ความเข้าใจและการยอมรับในบทบาทและความสำคัญของวิทยาศาสตร์พื้นฐานต่อการพัฒนาเทคโนโลยีระดับต่าง ๆ ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินงานขององค์กรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ของประเทศ รายงานวิจัยฉบับหนี่ง ได้สรุปว่า ประเทศที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีนั้นต้องมีความเข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟิสิกส์ รายงานฉบับนี้ได้ชี้ชัดว่า ความอ่อนแอทางด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย มีสาเหตุหลักเนื่องมาจากความอ่อนแอทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาวถ้าไม่รีบแก้ไขเสียตั้งแต่วันนี้
       การระดมความคิดของนักฟิสิกส์ทั้งประเทศจึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 – 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 โดยการริเริ่มและประสานงานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ หลังจากนั้นได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อจัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์อีกหลายครั้ง ภายใต้การสนับสนุนของ สกอ. เป็นอย่างดีตลอดมา
       โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์นี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ ในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548
       ต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ขยายการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการเพิ่มอีก 5 ด้าน ซึ่งมีด้านฟิสิกส์รวมอยู่ด้วย และในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีได้อภิปรายถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาปรับฐานการศึกษาและการวิจัยด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการสร้างและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ
       ในขั้นตอนที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองของคณะรัฐมนตรีนั้น โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ได้รับการปรับปรุงในรายละเอียดเพิ่มเติม ภายใต้การให้คำแนะนำปรึกษาอย่างใกล้ชิดของผู้เชี่ยวชาญจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการประชุมร่วมอีกหลายครั้ง จนกระทั่งโครงการนี้ได้รับความเห็นชอบเป็นลำดับขั้นและในที่สุดได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
       ปัจจุบันศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ (ศฟ.) เข้าสังกัดเป็นศูนย์ความเป็นเลิศ ลำดับที่ 9 ของ
สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

ที่ตั้งหน่วยงาน
          สำนักงานกลางศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์  ตู้ ปณ.70 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 โทรศัพท์ : (053) 942650-3 โทรสาร : (053) 222774
E-mail :
office@thep-center.org

Website  : http://www.thep-center.org/src/map.php 
แผนที่ตั้งหน่วยงาน (คลิ๊กที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่)

map-cmu

45 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

16 Sep

benner45yearsci
ปณิธานคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ใช้ตาม ปณิธานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

           คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวม  
           คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ตามหลักแห่งเสรีภาพทางวิชาการ โดยยึดมั่นในสัจธรรมและคุณธรรม เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ การประยุกต์เผยแพร่ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  
          บัณฑิตแห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พึงฝักใฝ่ในการฝึกตน เป็นผู้รู้จริง คิดเป็น ปฏิบัติได้ สามารถครองตน ครองคน ครองงาน ด้วยมโนธรรมและจิตสำนึกต่อสังคม

ปรัชญา คณะวิทยาศาสตร์

                วิทยาศาสตร์ ดำเนินไปบนพื้นฐานของการแสวงหาความจริงอย่างมีเหตุมีผล ผ่านกระบวนการวิจัย เพื่อนำมาซึ่งองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการทดสอบ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง สั่งสม และถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคน คณะวิทยาศาสตร์ในฐานะองค์กรการศึกษา จักต้องใช้องค์ความรู้ทั้งที่มีอยู่แล้วและพึงแสวงหาใหม่ เพื่อเพิ่มพูนและเสริมสร้างภูมิปัญญาของบุคคลให้ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นวิทยาศาสตร์ รู้จักใช้กระบวนการคิด การใช้เหตุและผล เพื่อสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไปgirl_cmu_2_front_500x500

              ในการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ระยะที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2550 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ได้ทบทวนและปรับวิสัยทัศน์และพันธกิจของคณะวิทยาศาสตร์ เป็นดังนี้ 

 วิสัยทัศน์
           
         “คณะวิทยาศาสตร์ มุ่งจัดการศึกษาและดำเนินการวิจัยที่เป็นเลิศในระดับนานาชาติให้บริการที่มีคุณภาพแก่สังคมและพึ่งพาตนเองได้”|

พันธกิจ

        จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและวิชาชีพชั้นสูง ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้แก่นักศึกษาภายในและภายนอกคณะ โดยมุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณภาพตามมาตรฐานสากล
        ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพทั้งระดับพื้นฐานและประยุกต์ในสาขาต่าง ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสามารถนำไปแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมของประเทศ
        ให้บริการวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและท้องถิ่นภาคเหนือ
        ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี
        พัฒนาระบบบริหารและจัดการในทุกๆ ด้าน ด้วยหลักธรรมาภิบาล พึ่งพาตนเองโดยใช้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 ค่านิยม621200311112

        S = Success เรามุ่งมั่นในความสำเร็จ

       C = Competitiveness เรามุ่งพัฒนาความสามารถในการแข่งขันได้

        I = Innovation เรามุ่งมั่นการสร้างสรรค์นวัตกรรม

       C = Collaboration เราทำงานเป็นทีมร่วมกัน

       M = Morality เรายึดมั่นในศีลธรรมความดี

       U = Unity เรารู้รักสามัคคี

เว็บไซต์ของคณะวิทยาศาสตร์
facsciweb

คลายเครียดกับ เกมสนุกๆ ทางวิทยาศาสตร์

14 Sep

สวัสดีครับผู้ที่สนใจทุกท่าน วันนี้ห้องสมุดฯ ขอนำเสนอ เกมส์สนุกๆ ให้เล่นคลายเครียดไปพร้อมๆกับการฝึกทักษะทางวิทยาศาสตร์กัน

1.
เกมส์บวกเลข ร่วมฝึกทักษะในการบวกเลข คิดเลขเร็วกัน คลิ๊กเล่นได้ที่รูปภาพ


game1
2. เกมส์ Body parts เกมส์ฝึกสมอง ความจำ ร่วมทายปัญหาจากภาพที่เห็นว่าเป็น ชิ้นส่วนใดในร่างกายของมนุษย์  คลิ๊กเล่นได้ที่รูปภาพgame2


3. เกมส์ ดวงดาวในจักรวาล ร่วมสนุกและทดสอบ IQ ความรู้ในด้านดวงดาว ดาวเคราะห์ และกลุ่มดาวต่างกัน คลิ๊กเล่นได้ที่รูปภาพgame3


4. เกมส์ Space quiz Game ตอบคำถาม ลุ้นผ่านด่านพิชิตรางวัลที่ 1 กัน คลิ๊กเล่นได้ที่รูปภาพ
game4

“ว่านจักจั่น” บทเรียนเพื่อการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์

10 Sep

            หลายคนคงจะเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับว่านจักจั่นมาบ้างแล้วนะคะ แต่พอดีวันนี้ได้อ่านวารสารวิทยาศาสตร์ ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับที่ 3 พฤษภาคม – มิถุนายน 2552 เป็นบทความของ คุณพิทยา วิทยาธร แล้วรู้สึกว่าบทความเกี่ยวกับว่านจักจั่นนี้น่าสนใจและอยู่ใกล้ตัวเรามาก จึงอยากหยิบยกบทความบางส่วนมาให้อ่าน ดังนี้ค่ะ

cicada

          “เรื่องว่านจักจั่นที่กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงนี้ ความจริงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและได้ติดตามมาตั้งแต่ปี 2546 แล้วและขอยืนยันว่าว่านจักจั่นที่ชาวบ้านเข้าใจกันนั้น แท้จริงแล้วคือ ราแมลง เป็นราที่อาศัยแมลงเป็นเจ้าบ้านเจริญเติบโตในตัวแมลงที่มีชีวิตและทำให้แมลงเป็นโรคตาย ราก็ต้องหาแมลงเจ้าบ้านใหม่ โดยการสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ที่มีสปอร์งอกออกมาจากซากแมลง เมื่อถึงเวลาและสภาพที่เหมาะสมสปอร์จะถูก ดีด ออกและตกลงไปบนแมลงตัวใหม่ เป็นวัฎจักรเช่นนี้เรื่อยไป

        จากการศึกษาพบว่าราแมลงที่มีสรรพคุณทางยานั้นมีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะยาที่รู้จักกันดีอย่างยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก หรือเพนนิซิลินก็มีราแมลงผสมอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนผสมในยาขายดีของโลกอีก 6 ชนิดจากทั้งหมด 20 ชนิด คือ ยาแก้อักเสบ ยาต้านจุลชีพ ยากดภูมิต้านทาน และยาลดไขมันในเลือด 3 ชนิด

     นอกจากนี้ราแมลงที่ชาวจีนรู้จักกันดีก็คือ ถังเฉ่า ถูกนำมาทำสมุนไพรชูกำลัง ปัจจุบันมีราคาแพงมาก มีมากในประเทศภูฏาน รู้จักกันในนาม ยาซ่ากุมบ้า ซึ่งก็คือเชื้อราแมลงที่เติบโตบนหนอนผีเสื้อในยามฤดูหนาว และสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ที่มีสปอร์ออกมาลักษณะคล้ายต้นหญ้าเพื่อขยายพันธุ์เมื่อถึงฤดูร้อนนั่นเอง

        แต่สำหรับราแมลงที่อยู่ในตัวจักจั่นที่ชาวบ้านหลงเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ขอยืนยันว่าไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคใดๆ แต่อาจเป็นอันตรายเสียด้วยซ้ำสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ และยิ่งอุตริเอาไปแช่น้ำแล้วนำมาบริโภคอาจจะเจอโรคมากเสียกว่าเจอโชค”

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมมุ่งสู่ World Class University

9 Sep

                 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2552 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ และปาฐกถาพิเศษในการประชุมเสนอผลงานวิชาการประจำปี ๒๕๕๒ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เรื่อง ทิศทางและนโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนาอุดมศึกษาไทย โดยในประเด็นของ เกณฑ์มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ นั้น รมต ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้หลักการและแสดงความเห็นไว้ว่า
P1050825
                มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติไม่ใช่การจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ขึ้น แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้ว และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ ที่สามารถทำการวิจัยระดับชาติ ระดับสากล และมีผลงานระดับโลกได้ โดยจะมีการประกาศมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติเมื่อได้มีการพิจารณาว่ามหาวิทยาลัยนั้นๆ เข้าเกณฑ์ ซึ่งได้ประกาศไปแล้ว ๙ มหาวิทยาลัย และมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เพื่อให้ทำวิจัย
                โดยเน้นเป้าหมาย ๒ ส่วน คือ วิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และต้องเป็นผลงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ระดับนานาชาติ ส่วนที่สองคือต้องมุ่งเน้นการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาการเกษตร พัฒนาภาคบริการ ภาคสังคม การแพทย์ สาธารณสุข ซึ่งได้เตรียมงบประมาณไว้แล้ว ๑๒,๐๐๐ ล้านบาท แบ่งเป็น ๒ ก้อน ก้อนหนึ่ง ๙,๐๐๐ ล้านบาท ใช้สนับสนุนมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น ๓ ปีๆ ละ ๓,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนอีกก้อนหนึ่ง ๓,๐๐๐ ล้านบาท จะสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่สนใจงานวิจัย โดยต้องเสนอโครงการว่าสนใจการวิจัยเรื่องอะไร และเป้าหมายสำคัญต้องเป็นการวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และเป็นประโยชน์กับท้องถิ่นได้จริง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระดับประเทศต่อไปในอนาคต
                มหาวิทยาลัยที่จะได้รับการประกาศเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติได้ จะต้องเข้าเกณฑ์คือ ต้องติดอันดับ ๑ ใน ๕๐๐ มหาวิทยาลัยโลก ซึ่งประเทศไทยมี ๗ มหาวิทยาลัย ดังนั้น ๗ มหาวิทยาลัยนี้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด แต่สำหรับมหาวิทยาลัยที่ไม่ติดอันดับ ๑ ใน ๕๐๐ มหาวิทยาลัยโลก จะต้องเข้าเกณฑ์ ๓ ข้อ ดังนี้ ๑) จะต้องมีผลงานวิจัยใน ๕ ปีที่ผ่านมาได้รับการตีพิมพ์ในระดับโลก อย่างน้อย ๕๐๐ เรื่อง ๒)ใน ๕๐๐ เรื่องที่ได้ตีพิมพ์ต้องมี ๕ สาขาวิชาหลัก และต้องมีความโดดเด่นอย่างน้อย ๒ ใน ๕ สาขาวิชาหลัก  ๓) อาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นๆ จะต้องจบปริญญาเอก อย่างน้อย ๔๐% ของอาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย
P1050786
                อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่ได้หมายความว่าจะหมดสิทธิ์ที่จะได้รับการประกาศเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เพราะ ๙ มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่ประกาศไป เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติประจำปี ๒๕๕๓ ซึ่ง ๙ มหาวิทยาลัยนี้จะต้องทำแผนงานวิจัยเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการที่จะพิจารณา และจะต้องมีการประเมินผลงานทุกๆ ๖ เดือน หรือ ๒ ครั้งต่อปี เพื่อให้มหาวิทยาลัยที่ได้รับการประกาศเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติได้ตื่นตัวและสร้างผลงานนำไปสู่การพัฒนาได้จริง
                รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า ความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษาและการปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นได้นั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน และต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าทิศทางการปฏิรูปการศึกษาเดินไปทางไหน อย่างไร รวมทั้งการเดินหน้าไปสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพ  การอุดมศึกษาก็เช่นเดียวกัน ต้องร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อเป้าหมายแห่งการพัฒนาคุณภาพและสร้างคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย.

                ในโอกาสเดียวกันนี้ รมว.ศธ.ยังได้เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ โดยมีนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการประกาศเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติประจำปี ๒๕๕๓ จำนวน ๙ แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้.
                สืบเนื่องด้วยเรื่องนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้มีการ ผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน มุ่งมั่น ทุมเท สร้างสรรค์ผลงานวิชาการ งานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ได้รับการประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ พร้อมร่วมผลักดันสถาบันอุดมศึกษาไทยให้มีคุณภาพอย่างแท้จริง และสามารถแข่งขันในเวทีโลกอย่างเต็มศักยภาพ

 090905113349             
  ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้เปิดเผยถึงการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการมหาวิทยาลัยแห่งชาติในครั้งนี้ ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่มีประเด็นย้ำชัดเจน  ในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีความเป็นเลิศทางวิชาการตามมาตรฐานสากล ที่มุ่งเน้นการวิจัย มีการผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมและคุณภาพ มีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถตนเองได้090905113338อย่างยั่งยืน ผลสัมฤทธิ์เป็นที่เห็นประจักษ์ได้จาก การที่มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกประจำปี 2008 โดย Times Higher Education- Quacquarelli Symonds (THE-QS) ให้เป็นมหาวิทยาลัยในช่วงลำดับที่ 401-500 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาศิลปะและมนุษย์ศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้รับการจัดอันดับในระดับ 270 และ 283 ของโลกตามลำดับ  ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเป็นผู้นำด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่พร้อมจะก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้เป็นอย่างดี

                 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมุ่งมั่นในพันธกิจของการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ที่จะสรรค์สร้างองค์ความรู้เพื่อบรรเทาปัญหา และพัฒนาความเจริญให้แก่สังคม พร้อมที่จะนำองค์ความรู้เหล่านั้นกลับมาพัฒนาคุณภาพของหลักสูตร เพื่อสร้างบัณฑิตที่เป็นคนดีและคนเก่ง มีความเสียสละ รับผิดชอบในหน้าที่การงานและสังคม เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมที่จะสร้างสังคมและวัฒนธรรมแห่งการวิจัยในหมู่บุคลากรในมหาวิทยาลัยและบุคคลรอบข้าง ให้บรรดาคณาจารย์ได้ตระหนักในหน้าที่ของตนด้านงานวิจัย พัฒนามหาวิทยาลัยให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อให้สมกับความมุ่งหวังของประเทศที่มีต่อสถาบันการศึกษาระดับสูงต่อไป อธิการบดี มช. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา จาก
 ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี  ข่าวที่ ๓๒๑/๒๕๕๒ ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนามหาวิทยาลัย วิจัยแห่งชาติ [ระบบออนไลน์]
http://www.moe.go.th/websm/2009/aug/321.html สืบค้น
            วันที่ 9 กันยายน 2552
งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่“มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
           “มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ” พร้อมมุ่งสู่ World Class University [ระบบออนไลน์]
          
http://pr.oop.cmu.ac.th/scoop_detail.php?sco_sub_id=148  สืบค้น วันที่ 9 กันยายน 2552