เมื่อวันที่ กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เชิญ ท่านอาจารย์ชิตพงษ์ กิตตินราดร ที่ปรึกษาแผนงานไอซีที สสส. / มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้บรรยายให้ความรู้ กับชาวสำนักหอสมุดฯ ซึ่งข้าพเจ้าได้รับแง่คิด ความรู้ใหม่ๆ ในการกำหนดสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล และได้รู้จักเครือข่ายครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย ที่ทำงานกันอย่างเข้มแข็ง โดยมีเว็บไซต์หลักที่ http://cc.in.th
ข้าพเจ้าอยากนำความรู้ที่ได้จากการบรรยายเชิงวิชาการมาถ่ายทอดให้ผู้อ่าน ทุกท่าน ลองเรียนรู้ไปด้วยกันน่ะครับ
ภาพรวมการดำเนินงานของเครือข่ายครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย (อ้างอิงจาก http://cc.in.th/about)
วัตถุประสงค์
1. ส่งเสริมแนวคิดวัฒนธรรมเสรีและการใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์กับงานสร้างสรรค์ ให้ความคิดสร้างสรรค์สามารถเผยแพร่ไหลเวียนและต่อยอดได้โดยเสรี
2. รณรงค์ให้สังคมไทย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐและภาคการศึกษา ใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ที่เหมาะสมกับงานสร้างสรรค์ โดยเฉพาะงานที่เป็นภาษาไทย เกี่ยวกับสังคมไทย หรือเกี่ยวกับการศึกษาของไทย
กิจกรรม
* จัดทำสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ฉบับภาษาไทยที่ใช้บังคับได้ตามกฎหมายไทย
* รณรงค์ให้ผู้สร้างสรรค์และองค์กรที่เป็นเจ้าของงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ ให้เผยแพร่งานสร้างสรรค์ โดยใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
* เผยแพร่ข่าวสารความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนและการพัฒนางานสร้างสรรค์อย่างเสรี การสงวนสิทธิบางอย่างที่เหมาะสม การใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบต่างๆ การให้คำปรึกษา ตอบคำถาม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ
* จัดทำเว็บไซต์และฐานข้อมูล เพื่อรวบรวมและแนะนำงานสร้างสรรค์ภาษาไทยหรือเกี่ยวกับสังคมไทย ซึ่งใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
* สนับสนุนการก่อตั้งหรือดำเนินงานของเว็บไซต์อื่นหรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน
รู้จักกับสัญญาอนุญาต
สัญญาอนุญาต 6 ประเภทหลัก ที่เจ้าของผลงานสามารถตัดสินใจว่าจะเผยแพร่งานของคุณภายใต้สัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอนส์แบบใด โดยมีรายละเอียดดังนี้|
1. สัญญาอนุญาตประเภทแสดงที่มา ไม่ใช้เพื่อการค้า และไม่แก้ไขต้นฉบับ (by-nc-nd)
เป็นสัญญาอนุญาตที่มีข้อจำกัดสูงสุดในบรรดาสัญญาอนุญาต 6 ประเภทหลักของ เป็นสัญญาที่ใช้อนุญาตให้คนอื่นเผยแพร่งานของเจ้าของผลงาน สัญญาประเภทนี้มักถูกเรียกว่า “สัญญาแบบโฆษณาฟรี” เพราะอนุญาตให้ใครก็ตามสามารถดาวน์โหลดและแบ่งปันงานของคุณกับคนอื่น ๆ ตราบใดที่ผู้ใช้ให้เครดิตคุณในฐานะผู้สร้างสรรค์ และลิงก์กลับมาที่คุณ แต่เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ดัดแปลงหรือต่อเติมงานของคุณไม่ว่าจะด้วยวิธีใด และไม่ได้รับอนุญาตให้นำไปใช้เพื่อการค้า
2. สัญญาอนุญาตประเภทแสดงที่มา ไม่ใช้เพื่อการค้า และอนุญาตแบบเดียวกัน (by-nc-sa)
สัญญาอนุญาตประเภทนี้อนุญาตให้คนอื่นรีมิกซ์ ตัดต่อ ดัดแปลง และต่อยอดจากงานของคุณ ตราบใดที่เขาไม่นำไปใช้เพื่อการค้า ให้เครดิตคุณในฐานะผู้สร้าง และเผยแพร่งานดัดแปลงของเขาภายใต้สัญญาอนุญาตประเภทเดียวกัน สัญญาอนุญาตประเภทนี้ยอมให้คนอื่นดาวน์โหลดและเผยแพร่งานของคุณเช่นเดียวกันกับสัญญาอนุญาตประเภท by-nc-nd แต่ยอมให้เขาแปล ดัดแปลง ทำรีมิกซ์ และสร้างสรรค์งานใหม่จากงานของคุณได้ งานใหม่ทุกชิ้นที่ต่อยอดมาจากงานของคุณจะอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตประเภทเดียวกัน แปลว่างานดัดแปลงทั้งหมดก็จะต้องไม่นำไปใช้เพื่อการค้าด้วย
3. สัญญาอนุญาตประเภทแสดงที่มา และไม่ใช้เพื่อการค้า (by-nc)
สัญญาอนุญาตประเภทนี้อนุญาตให้คนอื่นรีมิกซ์ ดัดแปลง และต่อยอดงานของคุณในทางที่ไม่ใช่เพื่อการค้า และแม้ว่างานดัดแปลงนั้นต้องให้เครดิตคุณในฐานะผู้สร้างงานต้นฉบับ และไม่นำไปขาย งานดัดแปลงนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตประเภทเดียวกันกับงานต้นฉบับของคุณ
4. สัญญาอนุญาตประเภทแสดงที่มา และไม่แก้ไขต้นฉบับ (by-nd)
สัญญาอนุญาตประเภทนี้อนุญาตให้คนอื่นนำงานของคุณไปเผยแพร่ ไม่ว่าจะทำไปเพื่อการค้าหรือไม่ ตราบใดที่ใช้งานต้นฉบับที่ไม่มีการดัดแปลงหรือต่อเติมใด ๆ ทั้งสิ้น และให้เครดิตคุณในฐานะผู้สร้าง
5. สัญญาอนุญาตประเภทแสดงที่มา และอนุญาตแบบเดียวกัน (by-sa)
สัญญาอนุญาตประเภทนี้อนุญาตให้คนอื่นรีมิกซ์ ดัดแปลง และต่อยอดงานของคุณ แม้ว่าจะทำไปเพื่อการค้า ตราบใดที่คนใช้ให้เครดิตคุณในฐานะผู้สร้างงานต้นฉบับ และเผยแพร่งานดัดแปลงภายใต้สัญญาอนุญาตประเภทเดียวกัน หลายคนมักเปรียบเทียบสัญญาอนุญาตประเภทนี้กับสัญญาอนุญาตของซอฟต์แวร์เสรี (open source software) งานดัดแปลงใหม่ ๆ ที่ต่อยอดจากงานของคุณจะอยู่ภายใต้สัญญาประเภทเดียวกัน ดังนั้น งานดัดแปลงต่าง ๆ จึงยอมให้นำไปใช้เพื่อการค้าได้
6. สัญญาอนุญาตประเภทแสดงที่มา (by)
สัญญาอนุญาตประเภทนี้อนุญาตให้คนอื่นรีมิกซ์ ดัดแปลง และต่อยอดงานของคุณ แม้ว่าจะทำไปเพื่อการค้า ตราบใดที่คนใช้ให้เครดิตคุณในฐานะผู้สร้างงานต้นฉบับ นี่เป็นประเภทสัญญาอนุญาตที่มอบเสรีภาพสูงสุดให้กับผู้ใช้งานของคุณ ในบรรดาสัญญาอนุญาต 6 ประเภทหลัก
Leave a Reply